สาวๆเข้ามาอ่านหน่อย!! สตรีที่มีน้ำหนักมากและประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรระวังภัยเงียบนี้!!


PCOS มีอันตรายอย่างไร

จากการติดตามคนที่เป็นโรค PCOS พบว่า  มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่อไปนี้

1. ปัญหามีบุตรยาก  จากรังไข่ทำงานผิดปกติ
2. ปัญหาการตกเลือด  โลหิตจาง  เพราะประจำเดือนมามากและนานเกินไป
3. เป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม เพราะเยื่อบุมดลูกและเต้านมถูกกระตุ้นด้วยเอสโตรเจนจำนวนมากนานๆ
4. เป็นเบาหวาน (เพราะอินซูลินทำงานได้ไม่ดี)  และโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน  เช่นโรคความดันโลหิตสูง  โรคทางสมอง  ไต  และหัวใจ  เป็นต้น

ระวังภัยเงียบของสตรีที่มีน้ำหนักมากและประจำเดือนมาไม่ปกติ

PCOS คืออะไร

PCOS ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Syndrome (บางทีก็เรียก  PCOD  ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Disease)  เป็นกลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในสตรีอย่างหนึ่ง.

อาการประกอบไปด้วย

ประจำเดือนมาไม่ปกติ  ขาดประจำเดือนนานๆ  เป็นอย่างแรก (เกิดจากไม่มีการตกไข่หรือตกไข่ผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ)   น้ำหนักมาก (อ้วน) เป็นอย่างที่สอง  มีขนดกกว่าปกติที่ใบหน้า ร่องอก และท้องน้อย เป็นอย่างที่สาม

ที่บอกว่าพบมากเพราะพบได้ใน  5-10% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์  ที่บอกว่าเป็นภัยเงียบก็เพราะมันอาจจะทำให้เกิดโรคเรื้อรังและร้ายแรงบางอย่าง( ซึ่งาจะกล่าวต่อไป )

โรคนี้พบกันมาตั้งแต่ปี 1930 โดยสูตินรีแพทย์ชาวเยอรมัน  2 ท่าน นามสกุล Stein และ Leventhal อธิบายผู้ป่วยสตรีที่มีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อ้วน และมีขนดก พร้อมกับตรวจพบลักษณะของรังไข่มีความผิดปกติจำเพาะตัว และไข่ไม่ตกเรื้อรัง

สตรีที่จะมาปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหา  2 ประการ เป็นส่วนใหญ่  คือ

1. หลังจากผ่านวัยรุ่นมานานแล้ว ประจำเดือนไม่มา  หรือหลาย ๆ เดือนมาครั้งหนึ่ง  หรือประจำเดือนมาไม่แน่นอน  หรือมาคราวละนาน ๆ และมามากจนซีดโลหิตจาง

2. แต่งงานนานแล้วไม่ตั้งครรภ์ อาจมี หรือ ไม่มีอาการในข้อ  1 ร่วมด้วย

PCOS เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ตามธรรมดาสตรีวัยเจริญพันธุ์  (อายุ  18-40 ปี) ควรจะมีการตกไข่ของรังไข่สม่ำเสมอทุกเดือน (ทุก 28+ 7 วัน)  ช่วงก่อนตกไข่เป็นครึ่งแรกของรอบประจำเดือน  รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูก (หลังจากหลุดลอกไปจากการมีประจำเดือน)  ให้เจริญงอกงามหนาตัวขึ้น

พอช่วงหลังการตกไข่ ในครึ่งหลังของรอบประจำเดือน  รังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมาด้วย  ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญมาก่อนหน้านี้มีความสมบูรณ์พร้อมรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์  ถ้ามีการตั้งครรภ์  รังไข่จะทำงานต่ออีกจนถึง  7-10 สัปดาห์  จากนั้นก็หยุดทำงาน  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรกทำงานต่อไป

ถ้ามีไข่ตกแต่ไม่มีการตั้งครรภ์  รังไข่จะทำงานต่อหลังไข่ตกประมาณ  10-12  วัน ก็หยุดสร้างฮอร์โมน  หลังจากนั้น  2-3  วันเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาพร้อมเลือดเป็นประจำเดือน

ถ้าไม่มีการตกไข่  รังไข่จะไม่มีการสร้างโปรเจสเตอโรน  มีแต่เอสโตรเจน  เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าถุงไข่ฝ่อตัวเมื่อไรก็ทำให้เอสโตรเจนหมด  เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเหมือนกัน  แต่ถ้าถุงไข่ค่อย ๆ โตช้า ๆ ไม่เรื่อย ๆ หรือ โตอยู่กับที่นาน ๆ ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ออกมาน้อย ๆ ช้า ๆ  เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมา ก็จะไม่มีประจำเดือน

ถ้าระหว่างนั้นมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้น ๆ ลง ๆ ก็จะมีการหลุดลอกเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นช่วง ๆ ทำให้มีลักษณะเลือดออกกะปริดกะปรอยไม่แน่นอน  หรือถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกถูกกระตุ้นจนหนามากเกิน  มันก็จะหลุดลอกออกมาเองเหมือนน้ำล้นถ้วย  ลักษณะเลือดประจำเดือนก็จะออกมาแบบมากและนาน  จะเห็นว่าถ้ามีการตกไข่สม่ำเสมอ  ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ  แต่ถ้าไม่ตกไข่ ประจำเดือนอาจจะมาเป็นแบบใดก็ได้

เรากลับมาดูโรคหรือกลุ่มอาการ PCOS เราตรวจพบว่าที่รังไข่แทนที่จะมีถุงไข่เพียง 1 ถุงโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ไข่ตกในแต่ละเดือนสลับข้างกันในรังไข่แต่ละข้าง กลับพบว่าในรังไข่แต่ละข้าง มีถุงไข่เล็ก ๆ เต็มไปหมด  ไม่มีถุงไข่ถุงไหนจะเจริญจนถึงการตกไข่  เมื่อทำ ultrasound ก็จะพบเป็นถุงเล็กๆ ใต้ผิวรังไข่  รังไข่เองก็จะโตกว่าปกติเล็กน้อย  จึงเป็นที่มาของคำว่า Polycystic (Poly =  มาก, Cyst = ถุง)

เราพบอีกว่าสตรีที่เป็นโรคนี้  รังไข่และต่อมหมวกไต  จะสร้างฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติในร่างกาย  จึงทำให้มีขนบริเวณใบหน้า  ร่องอก  และท้องส่วนล่างออกมาหนากว่าปกติ และ เราพบว่าร่างกายของสตรีผู้นี้มีระดับเอนไซม์อินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเซลล์ของร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินในการใช้น้ำตาลในเซลล์น้อย ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้นมาชดเชย  เมื่อน้ำตาลในเซลล์ถูกใช้น้อย ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมัน  ดังนั้นความอ้วนก็เกิดขึ้นและความอ้วนนี้จะลดยากมาก  เพราะตัวช่วยที่ไม่ให้มีการสร้างไขมันจากน้ำตาล (คือ อินซูลิน) ทำงานได้ไม่ดี

โดยสรุปลักษณะทั่วไปของกลุ่มอาการ PCOS หรือ PCOD ก็คือ ประจำเดือนผิดปกติ  อ้วน และมีขนดก  แต่ทุกคนที่เป็นโรคนี้  อาจมีอาการไม่ครบทั้ง 3 อย่างก็ได้  แต่ตัวยืนคือ รังไข่ทำงานผิดปกติ

แพทย์จะวินิจฉัย PCOS ได้อย่างไร?

เนื่องจากอาการทั้ง  3 อย่างนี้  แต่ละอย่างเกิดจากโรคอื่นๆ ได้  เช่น ความผิดปกติที่ประสาทและสมอง  ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต  ต่อมไธรอยด์  หรือที่ตับอ่อน  เนื้องอกที่รังไข่  เป็นต้น

การวินิจฉัยจึงต้องดูเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน  ทำ ultrasound และการตรวจฮอร์โมนเพศ จึงจะให้การวินิจฉัยที่แน่นอน (บางทีแพทย์อาจไม่ตรวจหมดทุกอย่างก็เป็นได้)

แนวทางรักษา PCOS

เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้  ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วย  วิทยาการตอนนี้เราทราบว่ากลุ่มอาการนี้มีความผิดปกติ  3  อย่างคือ  รังไข่ทำงานผิดปกติ  มีขนขึ้น และระดับอินซูลินสูงเนื่องจากเซลล์ตอบสนองไม่ดี เพื่อป้องกันผลร้ายจากสิ่งดังกล่าว  จึงแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 พวก  คร่าว ๆ คือ

รายที่ไม่ต้องการมีบุตร

ไม่ว่าปัจจุบันหรือตลอดไป หลักการรักษาคือ ทำให้มีประจำเดือนเพื่อป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป  เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อเลือดออกมากและความเสี่ยงต่อมะเร็งในอนาคต  ด้วยการให้ฮอร์โมนเลียนแบบการมีไข่ตก  ที่สะดวกที่สุดคือการได้รับยาคุมกำเนิด  ซึ่งจะช่วยให้มีประจำเดือนปกติ  และคุมกำเนิดไปในคราวเดียวกัน (คนเป็นโรคนี้อาจมีไข่ตกบ้างบางเวลา)

ถ้าไม่ต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดก็ให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรับประทานเป็นรอบ ๆ ไป  ถ้ามีขนดกด้วย  ก็ให้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนลดการสร้างแอนโดรเจน  ถ้ามีปัญหาเรื่องอ้วนก็ให้ยาที่กระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลิน  เพื่อให้การใช้น้ำตาลในเซลล์ดีขึ้น

ในทางกลับกันถ้าต้องการมีบุตร ก็ต้องกระตุ้นให้มีการตกไข่ หรือการใช้ยากระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลินของร่างกายหรือทั้ง 2 อย่างแล้วแต่กรณี  ถ้ายังไม่ได้ผล (หรือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง) คือ ใช้การผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้องโดยใช้ไฟฟ้าไปทำลายเนื้อเยื่อของรังไข่ส่วนที่สร้างแอนโดรเจนมากเกินไป  ซึ่งช่วยทำให้การตกไข่เองได้  และตั้งครรภ์ 50-60 %

สรุป     PCOS เป็นกลุ่มโรคที่เรายังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน  แต่พอจะรักษาเยียวยาได้ตามแต่ปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย  หวังว่าการแพทย์คงทราบสาเหตุและการรักษาที่ได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆตามวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา

โดย พล.ต.รศ.นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ที่มา :  http://www.khaoza.net/2016/06/blog-post_27.html
เช็คข่าวทั่วไป
Share